การบริโภคอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างเนื้อกระดูกและป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูก พบได้จากกลุ่มอาหารจำพวกผักใบเขียว ได้แก่ บล็อกโคลี่ ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง คะน้า แขนงผัก และดอกกระหล่ำ รองลงมาคือ นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ ตับ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยให้ความใส่ใจและสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย ตลอดจนเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ อาทิ วิตามินซี วิตามินบำรุงร่างกาย แคลเซียม ฯลฯ ทั้งนี้แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์แคลเซียมได้ จึงต้องรับมาจากอาหารผ่านการย่อยและดูดซึมที่ลำไส้เล็ก ซึ่งการดูดซึมแคลเซียม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ร่างกายสามารถดูดซึมได้ประมาณ 20-25 %เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะขับถ่ายทิ้งไป หน้าที่ของแคลเซียมนอกจากจะเป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน ยังซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วยในการแข็งตัวของเลือด การทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ช่วยกระตุ้นการทำ งานของเอนไซม์ และควบคุมสมดุลของกรดและด่างในร่างกาย หากขาดแคลเซียมในเด็ก จะทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน ทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติ ถ้าในหญิงวัยหมดประจำเดือน จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน และเป็นสาเหตุของโรคกระดูกเสื่อม นอกจากนี้ หากร่างกายขาดแคลเซียมอย่างรุนแรง อาจก่อให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อเกร็ง กระตุกและชัก เป็นต้น
นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผอ.รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม เช่น ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย ดื่มกาแฟเกินขนาด ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ในหญิงวัยหมดประจำเดือน และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน หรือเคยกระดูกหักมาก่อน โดยปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับในแต่ละวันตามช่วงอายุมีปริมาณไม่เท่ากัน โดยปกติผู้ใหญ่ที่อายุน้อย 40-50 ปี ควรได้รับแคลเซียม 800-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับแคลเซียม 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน หากอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและผู้หญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
ทั้งนี้ประชาชนสามารถเลือกรับประทานอาหาร ที่อุดมไปด้วยแคลเซียมโดยไม่ต้องพึ่งอาหารเสริม ได้แก่ งาดำ (1 ช้อนโต๊ะมีแคลเซียม 132 มิลลิกรัม) กะปิ กุ้งแห้ง (1 ช้อนโต๊ะมีแคลเซียม 140 มิลลิกรัม) ปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ทานได้ทั้งตัว เต้าหู้ นมและผลิตภัณฑ์จากนม พืชตระกูลถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่ว รวมถึง ตำลึง พริก กระถิน ใบยอ กะเพรา โหระพา กระเจี๊ยบ ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง คะน้า เป็นต้น โดยเลือกรับประทานตามปริมาณที่เหมาะสม (ดังตาราง แนบท้าย) รวมทั้งออกกำลังกายในช่วงเวลา 7 โมง ถึง 9 โมงเช้า เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากแสงแดด ซึ่งเป็นตัวช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และที่สำคัญหากมีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานแคลเซียม ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ควรซื้อแคลเซียมมารับประทานเอง
ป้ายกำกับ:รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม, อาหารเพื่อสุขภาพ, แคลเซียม, แคลเซียมดีกว่าพึ่งอาหารเสริม, แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย